คู่มือการจัดทำบัญชีข้อมูลด้าน ESG และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก | ความยั่งยืนของ Microsoft
อ่านต่อเพื่อศึกษาความสำคัญของการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดการข้อมูลด้าน ESG สำหรับการรายงานด้านความยั่งยืนและ ESG พร้อมทั้งเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและโซลูชันที่สามารถช่วยให้บริษัทเอาชนะความท้าทายในการนำแนวทางปฏิบัติเหล่านี้ไปใช้
การจัดการข้อมูลด้าน ESG คืออะไร และเหตุใดจึงมีความสําคัญ
การจัดการข้อมูลด้าน ESG หมายถึงกระบวนการรวบรวม จัดระเบียบ วิเคราะห์ และรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) ภายในองค์กร ซึ่งช่วยรับรองความถูกต้องแม่นยำ ความสมบูรณ์ และการเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG โดยช่วยให้องค์กรสามารถวัดคะแนนด้าน ESG ได้อย่างมั่นใจ ระบุจุดที่ต้องปรับปรุง และสื่อสารแนวทางปฏิบัติด้าน ESG ให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การจัดการข้อมูลด้าน ESG ถือเป็นส่วนสำคัญของความรับผิดชอบขององค์กรและความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม อันที่จริงแล้ว นักลงทุนจำนวนมากในปัจจุบันใช้เกณฑ์ด้าน ESG ในการวิเคราะห์การลงทุนที่มีศักยภาพ
ข้อควรพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึง แง่มุมต่างๆ เช่น:
- การลดปริมาณขยะ
- การอนุรักษ์น้ำ
- ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
องค์ประกอบทางสังคมมักจะมุ่งเน้นไปที่:
- นโยบายด้านความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่าง
- ความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน
- สิทธิมนุษยชนและแรงงานสัมพันธ์
สุดท้ายนี้ การกำกับดูแลครอบคลุมนโยบายภายในต่างๆ เช่น:
- โครงสร้างและความหลากหลายของคณะกรรมการ
- นโยบายต่อต้านการทุจริต
- ค่าตอบแทนผู้บริหาร
การจัดการข้อมูลด้าน ESG ที่มีประสิทธิภาพสามารถช่วยให้องค์กรจัดการความเสี่ยงและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน พร้อมทั้งขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านความยั่งยืน และความรับผิดชอบขององค์กร ซึ่งสามารถยกระดับชื่อเสียงขององค์กรต่อสาธารณะ และช่วยให้องค์กรมีความได้เปรียบในการแข่งขัน
การจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคืออะไร และเหตุใดจึงมีความสําคัญ
การจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือที่บางครั้งเรียกว่าการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจก หรือการจัดทำบัญชีสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นวิธีหนึ่งในการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่เกิดขึ้นจากองค์กร ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการลดผลกระทบที่กิจกรรมขององค์กรมีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังจำเป็นในการปฏิบัติตามข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมบางประการอีกด้วย
โดยพื้นฐานแล้ว การจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะระบุปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4), ไนตรัสออกไซด์ (N2O), ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFC) และก๊าซอื่นๆ ที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศโดยองค์กรในแต่ละปี กระบวนการนี้เกี่ยวข้องกับการติดตามแหล่งที่มาของก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดได้อย่างถูกต้องแม่นยำจากกิจกรรมต่างๆ เช่น การผลิต การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตพลังงาน และการใช้งานกลุ่มยานพาหนะ
เพื่อให้ได้รับข้อมูลการวัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกต้องแม่นยำ จึงต้องใช้วิธีการคำนวณที่แม่นยำโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการดำเนินงานในทุกแง่มุมขององค์กร จากนั้นจะมีการเปรียบเทียบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมากับเป้าหมายที่กำหนดไว้ล่วงหน้าซึ่งกำหนดโดยหน่วยงานราชการหรือองค์การนอกภาครัฐ เพื่อตรวจสอบความคืบหน้าในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในช่วงเวลาหนึ่ง
ข้อมูลจากการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังสามารถนำมาใช้เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคต ในจุดต่างๆ ทั่วทั้งองค์กรได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น จากผลการค้นพบดังกล่าว องค์กรอาจเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับปรุงฉนวนรอบอาคาร หรือเริ่มใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์
การใช้ข้อมูลด้าน ESG สำหรับกลยุทธ์ความยั่งยืน
ระบบข้อมูลอัจฉริยะด้าน ESG ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับธุรกิจเมื่อเกี่ยวข้องกับการสร้างและการนำกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่ครอบคลุมไปใช้ เนื่องจากข้อมูลด้าน ESG ช่วยให้บริษัทมองเห็นภาพรวมของประสิทธิภาพและผลกระทบ จึงสามารถช่วยระบุความเสี่ยงและโอกาสที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของตนได้ ข้อมูลด้านความยั่งยืนยังสามารถนำมาใช้เพื่อสร้างโซลูชันและช่วยให้องค์กรต่างๆ บรรลุเป้าหมายใน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้อีกด้วย
การใช้ข้อมูลด้าน ESG ในการตัดสินใจช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถศึกษาผลกระทบได้นอกเหนือจากตัวบ่งชี้ผลการดำเนินงานทางการเงิน เมื่อพิจารณาปัจจัยด้าน ESG องค์กรต่างๆ จะสามารถสร้างโครงการริเริ่มด้านความรับผิดชอบขององค์กร (CRI) และสร้างแผนธุรกิจที่มักจะให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าและมีมูลค่าในระยะยาวมากกว่าผลลัพธ์ที่อิงตามผลการดำเนินงานเพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG อาจนำไปสู่การตัดสินใจทางธุรกิจที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน เช่น การปรับปรุงกระบวนการผลิต หรือเครือข่ายการขนส่งให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การลงทุนในแหล่งพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์หรือพลังงานความร้อนใต้พิภพ มีส่วนช่วยให้เกิดมูลค่าที่สำคัญเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการลดต้นทุนที่ดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการลงทุนประเภทนี้จะสร้างคุณค่าของแบรนด์พร้อมทั้งจัดการระดับความเสี่ยงไปพร้อมกัน
สร้างเกณฑ์พื้นฐานของระบบข้อมูลอัจฉริยะด้าน ESG ด้วยการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การสร้างเกณฑ์พื้นฐานของข้อมูลด้าน ESG จำเป็นต้องมีการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกต้องแม่นยำและครอบคลุม ซึ่งถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการทำความเข้าใจและลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมขององค์กร การจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเหมาะสมจำเป็นต้องมีการรับทราบถึงแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานขององค์กร แหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทั่วไป ได้แก่:
- การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อผลิตไฟฟ้าและขับเคลื่อนการขนส่ง
- การเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน (เช่น การแปลงพื้นที่ป่าเพื่อใช้ในการเกษตร)
- การสร้างขยะและการใช้น้ำ
เมื่อสร้างเกณฑ์พื้นฐานของข้อมูลด้าน ESG การระบุขอบเขตของความพยายามในการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกก็มีความสำคัญเช่นกัน ตัวอย่างเช่น องค์กรอาจเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์ระดับสถานที่ปฏิบัติงานที่คำนึงถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในไซต์งานที่กำหนด หรือสามารถวิเคราะห์การดำเนินงานทั้งองค์กรในระดับส่วนกลางได้ เมื่อกำหนดขอบเขตแล้ว ขั้นตอนถัดไปเกี่ยวข้องกับการรวบรวม คำนวณ และบันทึกข้อมูลด้านความยั่งยืนสำหรับการรายงาน
เคล็ดลับ 10 ประการในการคำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับการรายงานด้าน ESG
องค์กรต่างๆ สามารถวัดและจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ลดลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของตน และจัดทำรายงานด้าน ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยการปฏิบัติตามการดำเนินงานเหล่านี้:
- กำหนดขอบเขต กำหนดขอบเขตองค์กรในการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ ซึ่งรวมถึงการกำหนดว่าจะรวมการดำเนินงาน สถานที่ปฏิบัติงาน และกิจกรรมใดบ้าง
- รวบรวมข้อมูล รวบรวมข้อมูลการใช้พลังงาน การใช้เชื้อเพลิง การก่อขยะ และกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องภายในขอบเขตที่กำหนด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบบิลค่าสาธารณูปโภค การสำรวจ และการใช้ระบบตรวจสอบ
- จัดประเภทการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จัดประเภทข้อมูลที่รวบรวมโดยแบ่งออกเป็นสามขอบเขตที่กำหนดโดยพิธีสารก๊าซเรือนกระจก:
- ขอบเขตที่ 1: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรงจากแหล่งที่มาที่เป็นเจ้าของหรือควบคุม (เช่น การเผาไหม้เชื้อเพลิงในสถานที่ปฏิบัติงานและยานพาหนะของบริษัท)
- ขอบเขตที่ 2: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากกระแสไฟฟ้า ความร้อน หรือไอน้ำที่สั่งซื้อ
- ขอบเขตที่ 3: การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงกิจกรรมต่างๆ เช่น การขนส่ง การจัดซื้อ ขยะ และการเดินทางของพนักงาน
- คำนวณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้ปัจจัยด้านการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและวิธีการคำนวณที่เหมาะสมเพื่อแปลงข้อมูลที่รวบรวมเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เครื่องมือต่างๆ และโซลูชันด้านคาร์บอนฟุตพรินต์สามารถช่วยลดความซับซ้อนของกระบวนการนี้ได้
- ระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก วิเคราะห์ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คำนวณได้เพื่อระบุแหล่งที่มาหลักของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในองค์กร ซึ่งอาจรวมถึงกระบวนการที่ใช้พลังงานอย่างมาก อุปกรณ์ที่ไม่มีประสิทธิภาพ หรือวิธีการขนส่งที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
- กำหนดเป้าหมายในการลด กำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแต่ละขอบเขตจากการวิเคราะห์แหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พิจารณาเกณฑ์มาตรฐานอุตสาหกรรม ข้อกำหนดด้านข้อบังคับ และความคาดหวังของผู้เกี่ยวข้องเมื่อกำหนดเป้าหมาย
- นำกลยุทธ์ในการลดไปใช้ พัฒนาและนำกลยุทธ์ไปใช้เพื่อให้บรรลุเป้าหมายและลดคาร์บอนฟุตพรินต์ของคุณ ซึ่งอาจรวมถึงมาตรการด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การเริ่มนำพลังงานทดแทนไปใช้ การปรับปรุงด้านการจัดการขยะ การปรับห่วงโซ่อุปทานให้เหมาะสมที่สุด การมีส่วนร่วมของพนักงาน และโครงการริเริ่มอื่นๆ ที่มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- ตรวจสอบและติดตามความคืบหน้า ตรวจสอบและติดตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กรอย่างสม่ำเสมอเพื่อประเมินความคืบหน้าสู่การบรรลุเป้าหมายในการลด ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพ และการตรวจสอบเป็นระยะ ปรับกลยุทธ์ตามความจำเป็นเพื่อรับรองว่ามีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง
- รายงานและสื่อสาร แบ่งปันข้อมูลด้าน ESG ขององค์กร, เป้าหมายในการลด และความคืบหน้ากับหน่วยงานกำกับดูแลและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งภายใน (พนักงานและฝ่ายบริหาร) และภายนอก (นักลงทุน ลูกค้า และสาธารณะ) ผ่านรายงานด้านความยั่งยืน การเปิดเผยข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม และโครงการริเริ่มในอุตสาหกรรม
- มีส่วนร่วมกับซัพพลายเออร์และทำงานร่วมกัน มีส่วนร่วมกับซัพพลายเออร์ ลูกค้า และคู่ค้าอื่นๆ เพื่อจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมวงการอุตสาหกรรม มีส่วนร่วมในโครงการริเริ่มในอุตสาหกรรม และแสวงหาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกเพื่อยกระดับความพยายามด้านความยั่งยืน
ข้อดีของการใช้แนวทางปฏิบัติในการรายงานด้านความยั่งยืนและ ESG
บริษัทที่ต้องการยกระดับความพยายามด้านความยั่งยืนจะได้รับประโยชน์อย่างมากจากการเริ่มนำชุดแนวทางปฏิบัติ ในการรายงานด้าน ESG ไปใช้ การดำเนินการเช่นนั้นช่วยให้องค์กรต่างๆ สามารถยกระดับคุณภาพและความน่าเชื่อถือของการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการรายงานด้านความยั่งยืน แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อความยั่งยืน และมีส่วนร่วมกับผู้เกี่ยวข้องอย่างมีประสิทธิภาพ
การเริ่มนำชุดแนวทางปฏิบัติ ในการรายงานด้านความยั่งยืนและ ESG ไปใช้ช่วยให้องค์กรต่างๆ:
- ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างครอบคลุมมากขึ้น ระบุจุดที่ต้องปรับปรุง และกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่มีความหมาย
- ยกระดับชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของบริษัทในกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงนักลงทุน ลูกค้า และพนักงาน
- ตระหนักถึงโอกาสในการประหยัดต้นทุน ยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงาน และจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยด้าน ESG
- ขับเคลื่อนนวัตกรรมโดยการส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนและสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและความชื่นชอบของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป
ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรที่เป็นผู้เริ่มนำการรวบรวมข้อมูลด้าน ESG และการรายงานความคืบหน้าด้านความยั่งยืนไปใช้เป็นกลุ่มแรกจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือองค์กรที่ใช้แนวทาง “รอดูลาดเลาก่อน” ด้วยการวางตำแหน่งตนเองในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืน ผู้เริ่มนำไปใช้เป็นกลุ่มแรกจะสร้างความแตกต่างให้กับตนเองในตลาด ดึงดูดนักลงทุนที่ใส่ใจต่อสังคม และสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับลูกค้าที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
ผู้เริ่มนำไปใช้เป็นกลุ่มแรกอาจช่วยกำหนดมาตรฐานและเฟรมเวิร์กสำหรับการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการรายงานด้านความยั่งยืน ซึ่งอาจมีอิทธิพลต่อแนวทางปฏิบัติและข้อบังคับของอุตสาหกรรม ในทางกลับกัน องค์กรที่ไม่ให้ความสำคัญกับความพยายามเหล่านี้ มีความเสี่ยงที่จะตามหลังเพื่อนร่วมวงการ ต้องดิ้นรนเพื่อตามให้ทันข้อกำหนดในการรายงาน และความคาดหวังของผู้เกี่ยวข้องที่เปลี่ยนแปลงไป และอาจทำลายชื่อเสียงขององค์กรได้
การใช้มาตรฐานและเฟรมเวิร์กด้าน ESG
นอกเหนือจากการเริ่มนําชุดแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนไปใช้แล้ว องค์กรยังสามารถได้รับประโยชน์จากการผสมผสานมาตรฐานด้าน ESG เข้ากับการทำงานทางธุรกิจในแต่ละวันของตนได้อีกด้วย ซึ่งสามารถผลักดันคะแนน ESG และผลลัพธ์เชิงบวกได้ในระยะยาว ตัวอย่างเช่น:
- การผสานรวมมาตรฐานด้าน ESG เข้ากับห่วงโซ่อุปทานและกระบวนการจัดซื้อสามารถช่วยให้องค์กรระบุซัพพลายเออร์ที่ยั่งยืน จัดการความเสี่ยง และรับรองว่ามีการปฏิบัติตามแนวทางการจัดหาที่มีความรับผิดชอบได้
- การนำแนวทางปฏิบัติเพื่อการประหยัดพลังงานไปใช้ การลดขยะ และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรในการดำเนินงานไม่เพียงแต่มีส่วนช่วยประหยัดต้นทุนเท่านั้น แต่ยังช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนอีกด้วย
- การจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยด้าน ESG ในแนวทางปฏิบัติด้านทรัพยากรบุคคลและการจัดการพนักงานสามารถช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถสูง ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพนักงาน และปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานโดยรวม
การผสานรวมมาตรฐานด้าน ESG เข้ากับการออกแบบผลิตภัณฑ์ การพัฒนา และการตลาดมีศักยภาพในการเสริมสร้างชื่อเสียงของแบรนด์ให้แข็งแกร่ง ตอบสนองความคาดหวังของผู้บริโภค และกระตุ้นความภักดีของลูกค้า
ความท้าทายของการจัดทำบัญชีข้อมูลด้าน ESG และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
แม้ว่าจะจำเป็นสำหรับการแสดงให้เห็นถึงความยั่งยืนและพฤติกรรมองค์กรที่มีความรับผิดชอบ แต่การจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจเป็นการดำเนินการที่ซับซ้อน
ความท้าทายที่สำคัญประการหนึ่งคือการรวบรวมและการจัดการข้อมูล การจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกำหนดให้องค์กรรวบรวมข้อมูลปริมาณมหาศาลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ในการดำเนินงานของตน การตรวจสอบความถูกต้องแม่นยำและความครบถ้วนสมบูรณ์ของข้อมูลนี้อาจเป็นงานที่ใช้เวลานานและใช้ทรัพยากรอย่างมาก
เมื่อองค์กรรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG แล้ว บริษัทจะต้องกำหนดเป้าหมายที่มีความหมายเพื่อขับเคลื่อนความก้าวหน้าด้านความยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การสร้างสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการกำหนดเป้าหมายอันทะเยอทะยานที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ด้านความยั่งยืนระดับสากล และการกำหนดเป้าหมายที่บรรลุผลได้ด้วยความสามารถและทรัพยากรของบริษัทอาจเป็นเรื่องยาก
ความท้าทายอีกประการหนึ่งคือการขาดเฟรมเวิร์กที่เป็นมาตรฐานและข้อกำหนดในการรายงาน การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกยังคงเปลี่ยนแปลงไป และไม่มีมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลสำหรับการวัดและการรายงาน องค์กรอาจพบว่การเลือกเฟรมเวิร์กและวิธีการที่เหมาะสมในการประเมินคะแนนด้าน ESG เป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ ข้อกำหนดในการรายงานจากผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ยังอาจแตกต่างกันไปอีกด้วย
แม้ว่าความโปร่งใสและการเปิดเผยข้อมูลถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือ แต่การถ่ายทอดข้อมูลที่ซับซ้อนในลักษณะที่ชัดเจนและเข้าใจได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย องค์กรต้องแปลข้อมูลทางเทคนิคเชิงลึกให้เป็นข้อมูลเชิงลึกและการบอกเล่าเรื่องราวที่มีความหมายซึ่งตรงใจกลุ่มผู้เกี่ยวข้องต่างๆ รวมถึงนักลงทุน ลูกค้า พนักงาน และชุมชน ซึ่งยิ่งเพิ่มความซับซ้อนมากขึ้นให้กับการจัดทำบัญชีและการรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
โซลูชันด้านการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดการข้อมูลด้าน ESG
องค์กรต้องสร้างกระบวนการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงลงทุนในเทคโนโลยีและโซลูชันที่เหมาะสมเพื่อปรับปรุงแนวทางปฏิบัติในการรายงานด้านความยั่งยืน
ตัวอย่างบางส่วนของเทคโนโลยีเพื่อการเปลี่ยนแปลงในแวดวงนี้ ได้แก่:
- เครื่องมือการจัดการข้อมูลและการวิเคราะห์— เครื่องมือเหล่านี้ช่วยให้บริษัทต่างๆ รวบรวม ผสานรวม และวิเคราะห์ข้อมูลด้าน ESG จำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งปรับปรุงความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลและนำเสนอข้อมูลเชิงลึกแบบเรียลไทม์
- อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) และเทคโนโลยีเซนเซอร์— อุปกรณ์และเซนเซอร์ IoT ได้รับการปรับใช้มากขึ้นเพื่อบันทึกและตรวจสอบข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการใช้น้ำแบบเรียลไทม์
- เทคโนโลยีบล็อกเชน— บล็อกเชนพิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีคุณค่าสำหรับการยกระดับแนวทางปฏิบัติในการรายงานด้านความยั่งยืนด้วยการนำเสนอความโปร่งใส การตรวจสอบย้อนกลับ และการไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้
- ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และการเรียนรู้ของเครื่อง (ML)— เทคโนโลยี AI และ ML สามารถวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ระบุรูปแบบ และสร้างข้อมูลเชิงลึกอันมีค่าสำหรับการจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกและการจัดการข้อมูลด้าน ESG
- ซอฟต์แวร์การรายงานด้าน ESG— โซลูชันการรายงานด้าน ESG โดยเฉพาะช่วยให้องค์กรปรับปรุงกระบวนการรายงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นโดยใช้เฟรมเวิร์กที่กำหนดไว้ล่วงหน้า เทมเพลตข้อมูล และตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพที่ปรับให้เหมาะกับมาตรฐานการรายงานที่กำหนด
ค้นพบโซลูชันด้านความยั่งยืนจาก Microsoft
เรียนรู้วิธีการบันทึก รายงาน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมด้วย Microsoft Sustainability Manager พร้อมทั้งสำรวจวิธีการที่ แดชบอร์ดผลกระทบการปล่อยคาร์บอน สามารถช่วยคุณประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คุณบันทึกไว้แล้ว ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้บริการ Cloud ของ Microsoft Azure และ Microsoft 365
เร่งการเดินทางสู่ความยั่งยืนของคุณ
ไม่ว่าคุณจะอยู่ที่จุดใดก็ตามบนเส้นทางสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โซลูชัน Microsoft Cloud for Sustainability สามารถช่วยให้คุณเร่งความคืบหน้าและพลิกโฉมธุรกิจของคุณด้วยความสามารถด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG)
คำถามที่ถามบ่อย
-
การจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นวิธีหนึ่งในการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (GHG) ที่เกิดขึ้นจากองค์กร ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการลดผลกระทบที่กิจกรรมขององค์กรมีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังจำเป็นในการปฏิบัติตามข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
-
การจัดทำบัญชีก๊าซเรือนกระจกและการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นคำที่ใช้อธิบายกิจกรรมการวัดและการจัดการผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และมักใช้แทนกันได้
-
การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นองค์ประกอบสำคัญของข้อมูลด้าน ESG ESG ครอบคลุมชุดเกณฑ์ที่กว้างขึ้นซึ่งใช้ในการประเมินการจัดอันดับด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลของบริษัท "E" ใน ESG กล่าวถึงข้อควรพิจารณาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ ซึ่งรวมถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การใช้พลังงาน การจัดการขยะ และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ดังนั้น การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นแง่มุมสำคัญของการวิเคราะห์คะแนน ESG เนื่องจากมีส่วนช่วยในการประเมินผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนของบริษัท
-
หลักการพื้นฐานของการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วย:
- ความเกี่ยวข้อง: มุ่งเน้นไปที่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีนัยสำคัญและเป็นรูปธรรมต่อการดำเนินงานและกิจกรรมขององค์กร
- ความครบถ้วนสมบูรณ์: รวมแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและก๊าซเรือนกระจกที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยครอบคลุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม
- ความสอดคล้อง: นำวิธีการและเทคนิคการวัดที่สอดคล้องกันในช่วงเวลาหนึ่งไปใช้เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำและเปรียบเทียบได้
- ความโปร่งใส: เปิดเผยข้อสมมติฐาน วิธีการ และแหล่งข้อมูลเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้โดยอิสระ
- ความถูกต้องแม่นยำ: ใช้ข้อมูลที่เชื่อถือได้และได้รับการตรวจสอบความถูกต้องแล้วเพื่อรับรองว่าการจัดทำบัญชีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีความถูกต้องแม่นยำ
- การตรวจสอบ: พิจารณาการตรวจสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจกและกระบวนการจัดทำบัญชีโดยอิสระเพื่อยกระดับความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจ
-
การจัดการข้อมูลด้าน ESG หมายถึงกระบวนการรวบรวม จัดระเบียบ วิเคราะห์ และรายงานข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล (ESG) ภายในองค์กร ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลที่หลากหลายอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม แนวทางปฏิบัติทางสังคม และการกำกับดูแลขององค์กร เช่น การใช้พลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ความหลากหลายของพนักงาน แนวทางปฏิบัติในห่วงโซ่อุปทาน องค์ประกอบของคณะกรรมการ และอื่นๆ การจัดการข้อมูลด้าน ESG ช่วยรับรองความถูกต้องแม่นยำ ความสมบูรณ์ และการเข้าถึงข้อมูลด้าน ESG โดยช่วยให้บริษัทสามารถวัดประสิทธิภาพด้านความยั่งยืน ระบุจุดที่ต้องปรับปรุง และสื่อสารแนวทางปฏิบัติด้าน ESG ให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ติดตาม Power Platform