เปอลิงกิฮ์เมรู
หน้าตา
(เปลี่ยนทางจาก เปอลิงกีฮ์เมรู)
เปอลิงกิฮ์เมรู (อินโดนีเซีย: pelinggih meru; แปลตรงตัวว่า "หอคอยเมรุ") คือศาลเจ้าหลักในโบสถ์พราหมณ์แบบบาหลี ส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้และมีโครงสร้างคล้ายกับเจดีย์ มีความสูงหลายชั้น หลังคาทำมาจากใบไม้แห้งหรือวัสดุอื่น ๆ สาน ความสูงที่โดดเด่นของเปอลิงกิฮ์เมรูนั้นสื่อถึงเขาพระสุเมรุในคติฮินดู ภายในของเปอลิงกิฮ์เมรูมักเป็นที่ประดิษฐานเทวรูป (มูรติ) ของวัดนั้น ๆ ภายในโถงที่เรียกว่าครรภคฤห์ โครงสร้างที่คล้ายกับเปอลิงกิฮ์เมรูในสถาปัตยกรรมอินเดียเหนือคือศิขร และในอินเดียใต้คือวิมาน
จำนวนชั้นซึ่งสังเกตจากจำนวนหลังคาสานของเปอลิงกิฮ์เมรูแสดงสถานะของเทพองค์นั้น ๆ โดยอย่างเตี้ยที่สุดมีความสูงเพียงสามชั้น และอย่างสูงที่สุดมีความสูงได้ถึงสิบเอ็ดชั้น โดยทั่วไปแล้วความสูงมักจะสร้างดังนี้
- หอสูงสามชั้น มักเป็นที่ประดิษฐานของเทพบรรพบุรุษ (คนที่เสียชีวิตไปและได้รับการนับถือเป็นเทพเจ้า) เช่น
- ศาลเจ้าหลักของปูราลูฮูร์อูลูวาตู (Pura Luhur Uluwatu) สร้างขึ้นเพื่อสักการะนักบวชผู้พัฒนาศาสนาฮินดูแบบบาหลีในสมัยคริศต์ศตวรรศที่ 12 นามว่า "ดัง ฮียัง นีราร์ตา" (Dang Hyang Nirartha) หรือเรียกพระนามเป็นเทพว่า "เบอตารา ซักตี วาวู เราฮ์" (Betara Sakti Wawu Rauh)[1]
- เปในปูราตามันอายุน (Pura Taman Ayun) สร้างขึ้นเพื่อสักการะแด่กษัตริย์องค์ก่อน ๆ ของอาณาจักร Mengwi
- หอสูงห้าชั้น มักใช้สักการะเทพพื้นเมือง เช่น หอสูงห้าชั้นของปูราเบอซากิฮ์ที่สักการะเทพบาราตา มหาจายา (Bhatara Mahajaya) เทพแห่งเขาอากุง[2]
- หอสูงสิบเอ็ดชั้น ใช้สักการะเทพเจ้าสูงสุดของวัดฮินดูนั้น ๆ เช่น
- หอสูงที่สุดของปูราอูลุนดานูบราตัน สักการะพระศิวะและพระปารวตี
- หอสามหอที่สร้างเรียงกันในปูราเมรูบนเกาะลมบก สักการะพระตรีมูรติทั้งสามพระองค์
อ้างอิง
[แก้]- ↑ Auger 2001, pp. 76.
- ↑ Eiseman 2011.
บรรณานุกรม
[แก้]- Auger, Timothy, บ.ก. (2001). Bali & Lombok. Eyewitness Travel Guides. London: Dorling Kindersley. ISBN 0751368709.
- Davison, Julian (2003). Balinese architecture. Singapore: Tuttle Publishing. ISBN 9780794600716.
- Eiseman, Jr., Fred B. (2011). Bali - Sekala & Niskala: Essays on religion, ritual, and art. Tuttle Publishing. ISBN 9781462900923.
- Soekmono, R. (1995). Fontein, Jan (บ.ก.). The Javanese Candi: Function and Meaning. Studies in Asian Art and Archaeology. Vol. 17. Leiden: E.j. Brill. ISBN 9789004102156.